นักอักษรศาสตร์ห่วงเด็กไทยไม่รู้หลักคัดลายมือ-ครูไม่เข้าใจ
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายวัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมศึกษาน่าห่วงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเริ่มหัดขีดเขียนตัวหนังสือไปจนถึงขั้นคัดลายมือของเด็กๆ เนื่องจากครูผู้สอนขาดความเข้าใจ ส่วนใหญ่เกิดจากจบวิชาหนึ่งแต่ต้องมาสอนอีกวิชาหนึ่ง ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการยังขาดการจัดนำองค์ความรู้จากผู้สันทัดไปชี้แนะให้แก่ครูรุ่นใหม่ที่ยังขาดทักษะ จึงทำให้เด็กไทยไม่รู้หลักในการเขียนตัวหนังสือให้สวย ตั้งแต่ท่าจับดินสอหรือปากกา การเลือกกระดาษ วางกระดาษวางมือ วางแขน ฝึกเขียนเส้นพื้นฐานลักษณะต่างๆ ตลอดจนถึงการนั่ง นอกจากนี้ ในส่วนรูปตัวอักษรที่จะใช้เป็นต้นแบบในการคัดไทย ปัจจุบันคนไทยจะหันมานิยมคัดเลือกรูปแบบอักษรที่มีอยู่มากในโปรแกรมของคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นการคัดลายมือที่แท้จริงเหมือนเด็กประถมรุ่นก่อนๆ จึงทำให้วิธีการเขียนตัวอักษรต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยไปโดยปริยาย พร้อมระบุว่า เด็กสมัยนี้รู้จักแต่ดินสอกดหรือปากกาลูกลื่น ซึ่งสามารถเขียนเส้นไปได้ทุกทิศทาง ไม่ได้มีข้อจำกัดเกี่ยวกับทิศทางในการลากเส้น เหมือนกับปากกาคอแร้งรุ่นเก่าในอดีต ดังนั้นจึงมีการออกแบบอักษรใหม่ๆให้เหมาะกับอุปกรณ์การเขียนและวัสดุรองรับการเขียน เช่น แบบกระทรวงศึกษาธิการ แบบรัตนโกสินทร์ แบบพระยาผดุงวิทยาเสริม ขุนสัมฤทธิ์วรรณการ แบบสาธิตจุฬาฯ ตลอดไปจนถึงตัวอักษรแบบราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างตัวอักษรไทย ทั้งการเขียนบนกระดาษที่ไม่มีเส้นและการพิมพ์เป็นสำคัญ นายวัฒนะ กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงอีกประการ คือ อักษรฃ(ขวด)ฅ(คน) เพราะปัจจุบันอักษรดังกล่าวไม่มีคำให้ใช้แล้ว แต่ยังมีคนบางกลุ่มอยากนำอักษรทั้ง 2 ตัวกลับมาใช้อีก แต่ก็ใช้ไม่ถูกตามโบราณ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. นี้ อยากกระตุ้นให้โรงเรียนเห็นความสำคัญการส่งเสริมคัดลายมือ เพราะเส้นอักษรแต่ละเส้นสามารถบอกทักษะ ความรู้ และลักษณะนิสัยของเจ้าของลายมือได้ด้วย และที่สำคัญผู้ที่ต้องการใช้อักษร ข.ขวดฅ.คน จริงๆ ก็ขอให้ศึกษาเสียให้ถ่องแท้เสียก่อน ไม่ใช่คิดแต่จะหาความแปลกแต่เพียงประการเดียว เพราะภาษาไทยของเรานั้นแค่ใช้อักษรผิดตัวเดียวความหมายจากบวกกลายเป็นลบไปได้เลย นักอักษรศาสตร์ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย |