สพฐ.ฟันธงใช้โอเน็ตรับเด็กแน่
ชินภัทร เผยประชุมหาสัดส่วนคะแนนโอเน็ตต่อการรับนักเรียนวันที่ 8 ก.ค. ได้ข้อสรุปแน่ ชี้รัฐต้องเสียงบปีละ 500 ล้านบาทแล้ว ควรนำมาใช้ประโยชน์ ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 10% แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่อยากเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด มั่นใจเด็กยังมีคุณภาพ หลังคะแนนเอ็นทีภาพรวมดีขึ้น เพราะเป็นตัวยืนยันว่าเด็กยังมีการพัฒนา
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวตอนหนึ่งในงานวันคล้ายวันสถาปนาของ สพฐ. ครบรอบ 8 ปี ว่า ในโอกาสที่ สพฐ.ครบรอบ 8 ปีนี้ ถือเป็นการตั้งหลักของการก้าวไปข้างหน้าแห่งความมั่นคงทางด้านโครงสร้างบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานด้านการจัดการเรื่องโครงสร้างเขตพื้นที่มัธยมศึกษา และเขตพื้นที่ประถมศึกษา โรงเรียนมาตรฐานสากล การสร้างระบบคุณธรรมในสถานศึกษา ดังนั้น การครบรอบ 8 ปี ก็จะทำให้มีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการอยู่มาก ซึ่งเมื่อก้าวสู่ปีที่ 9 สพฐ.ก็จะมีเรื่องของความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มต้นวางเป้าหมายเรื่องคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ชัดเจนขึ้น
เลขาธิการ สพฐ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ 8 ก.ค. สพฐ.ได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการหารือเรื่องนำคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ สพฐ.จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะรัฐบาลได้ลงทุนเรื่องการจัดสอบโอเน็ตปีละกว่า 500 ล้านบาท ดังนั้น สพฐ.จึงต้องนำคะแนนโอเน็ตมาทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม สพฐ.พร้อมจะฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย เพื่อจะหาข้อสรุปและเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ต่อไป
นายชินภัทรกล่าวอีกว่า การวางสัดส่วนคะแนนโอเน็ตให้มีผลต่อการรับนักเรียนปี 2555 นั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน และคาดว่าจะใช้คะแนนโอเน็ตอย่างน้อย ร้อยละ10 มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการรับนักเรียน เพราะการรับนักเรียนชั้น ม.1 มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือกในเขตพื้นที่บริการ การสอบทั่วไป และการจับฉลาก ส่วนจะใช้คะแนนโอเน็ตมากกว่าร้อยละ 10 จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจาก สพฐ.ยังไม่อยากก้าวกระโดดไปไกลมาก เพราะเคยมีประสบการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการทดสอบในเรื่องข้อสอบ อาทิ จำนวนคำตอบถูกมากขึ้น หรือมีจำนวนตัวเลือกให้ตอบมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของคะแนน
ผมก็ยังมั่นใจว่าคุณภาพเด็กยังไม่ถือว่าตกต่ำ เพราะการจัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (เอ็นที) ที่ปีล่าสุดมีแนวโน้มคะแนนดีขึ้น เป็นตัวยืนยันว่าเด็กไทยมีการพัฒนาขึ้น นายชินภัทรกล่าว.
ที่มา: http://www.thaipost.net |