สพฐ.ดึงอาชีวะเปิดช่องเรียนม.ปลาย ควบสายอาชีพ
สพฐ.เปิดช่องทางเรียนสายอาชีพระดับ ม.ปลาย ดึง สอศ.ร่วมจัดหลักสูตรการเรียนการสอน บุคลากร จบรับวุฒิสามัญควบ ปวช. หรือนำความรู้เทียบโอนเพิ่มเติม ชินภัทร ยันไม่แย่งงานอาชีวะ หากเสียงตอบรับดีเล็งขยายเพิ่ม วานนี้(24 ส.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการเพิ่มสัดส่วนการเรียนวิชาชีพในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นอาจมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบวิชาสามัญบวกทักษะอาชีพ โดยผู้จบการศึกษาจะได้วุฒิม.ปลาย สายสามัญ หรือในบางแห่งอาจจะมีการจัดหลักสูตร ม.ปลาย แบบประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) แต่อยู่ในรูปแบบความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในเรื่องหลักสูตร บุคลากร และการจัดการเรียนการสอน และการฝึกงาน โดยผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิ ปวช. หรือ ผู้เรียนที่เรียนในหลักสูตรสามัญแต่มีวิชาชีพรวมอยู่ด้วย และยังไม่เพียงพอที่จะเป็น ปวช. ก็จะให้ผู้จบการศึกษาได้วุฒิ ม.ปลาย สายสามัญ แต่สามารถนำความรู้ไปเทียบโอนและฝึกหัดเพิ่มเติม เพื่อให้ได้วุฒิ ปวช. เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามรูปแบบดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น เพื่อสนองตอบต่อการปฎิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับชั้นม.ปลาย ในสังกัด สพฐ. จำนวน 96 แห่ง ที่มีการเปิดสอนสายวิชาชีพ ดังนั้นถือเป็นจุดที่ สพฐ. จะต้องวิเคราะห์หาช่องทางในการเปิดเรียนสายวิชาชีพในระดับ ม.ปลาย เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนากำลังคนของประเทศ และถือว่าไม่ได้เป็นการแย่งงานของ สอศ. แต่จะอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับ สอศ. โดยให้ สอศ.เป็นผู้กำหนดหลักสูตรด้วย เลขาธิการ กพฐ. กล่าว นายชินภัทร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายวิชาชีพในโรงเรียนสังกัด สพฐ. ไม่ได้เป็นการปิดกั้นผู้เรียนสายอาชีวศึกษา แต่เป็นการเปิดทางเลือกใหม่ให้กับเด็กได้เลือกเรียนด้วยตนเอง ส่วนจะมีการขยายเพิ่มมากกว่า 96 แห่งที่มีอยู่หรือไม่นั้น หากผู้เรียนมีความต้องการก็อาจจะขยายเพิ่มได้ อย่างไรก็ตาม หากแนวทางดังกล่าวได้รับการตอบรับ ก็อาจจะมีการย้อนกลับไปดูหลักสูตรโครงการมัธยมศึกษารูปแบบผสม ซึ่งเป็นการสอนวิชาสามัญและวิชาชีพในโรงเรียน ม.ปลาย และหากเรื่องนี้เป็นความต้องการของผู้เรียน อาจจะมีการรื้อฟื้นความพร้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การฝึกงาน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
Source - ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (Th) |