“ณัฏฐพล” โยนบอร์ด สทศ.เคาะสอบโอเน็ต
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ
เปิดเผยภายหลังการประชุมเรื่องการสอบโอเน็ตร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
(สทศ.) ว่า ที่ประชุมได้นำเสนอผลงานวิจัยของสำนักงานศึกษาธิการภาค 2
เรื่องเป้าหมายอาชีพในกลุ่มโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวน 50 โรงเรียน
และจำนวนนักเรียน 12,786 คน พบว่า
เมื่อเด็กสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว
ความต้องการของนักเรียนที่อยากจะมีอาชีพแตกต่างไปจากเดิม
และอาชีพส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอาชีพที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้
จะนำผลการวิจัยดังกล่าวให้บอร์ด
สทศ.พิจารณาหาทางออกเรื่องการสอบโอเน็ตจะเป็นในรูปแบบใดที่เหมาะสมกับความต้องการประกอบอาชีพของเด็กในยุคปัจจุบันที่กว้างมากขึ้น
เช่น นักออกแบบเกม นักร้อง จิตรกร ยูทูบเบอร์ นักเขียนการ์ตูน เป็นต้น
ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่สามารถวัดด้วยผลคะแนน “ผมมอบให้
สทศ.ไปหารือแนวทางแก้ปัญหาการสอบโอเน็ตที่เหมาะสม
จากนั้นให้นำกลับมารายงานให้รับทราบปลายเดือน ก.ย.นี้
ซึ่งมีแนวโน้มการสอบโอเน็ตระดับชั้น ม.6
ยังมีความจำเป็นต่อการเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนการสอบโอเน็ตของเด็กม.3 และ ป.6
อาจจะคงไว้หรือยกเลิกไปเลยก็ได้
คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ภายในต้นเดือน
ต.ค.และหากมีการเปลี่ยนแปลงการสอบโอเน็ตก็จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป” นายณัฏฐพลกล่าว รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล
ประธานคณะกรรมการดำเนินงานทีแคส กล่าวว่า หาก ม. 6
ไม่ได้สอบโอเน็ตในปีนี้จะกระทบระบบทีแคส ในรอบแอดมิชชัน 1
เพราะจะมีบางคณะ/สาขา กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าจะต้องได้คะแนนสอบโอเน็ตไว้ด้วย
รวมทั้งกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) และรอบแอดมิชชัน 2
เพราะใช้คะแนนโอเน็ต 30% มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก
ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้า 3 ปี ทั้งนี้ ทาง
ทปอ.คิดไว้แล้วว่าในปี 2566
จะไม่มีการนำคะแนนสอบโอเน็ตมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกเข้าอุดมศึกษา
เพราะ สพฐ. ได้เกริ่นกับ ทปอ.ว่าจะเปลี่ยนวิธีการสอบ
โดยจะเป็นการสอบแบบสุ่มแทน ซึ่ง ทปอ.วางแผนไว้แล้วว่า
จะมีหรือไม่มีการสอบโอเน็ตก็ตาม
ก็จะไม่ใช้โอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกในระบบทีแคสแล้ว โดยจะใช้คะแนน
9 วิชาสามัญแทน.
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ
|
โพสเมื่อ :
14 ก.ย. 63
อ่าน 608 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|