เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. และ นายสุภัทร จำปาทอง
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมแถลงข่าว “ลดเวลาเรียน
เพิ่มเวลารู้ด้านสุขภาพ” โดย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากนโยบายลดเวลาเรียน
เพิ่มเวลารู้
ซึ่งต้องการให้เด็กมีพัฒนาการนอกเหนือจากการเรียนรู้ทางวิชาการ
ในการทำกิจกรรมต่างๆ นั้น
ในเรื่องของการตระหนักเรื่องสุขภาพถือเป็นเป็นสิ่งที่จำเป็น
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงเข้าไปร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
โดยความร่วมมือที่จะประเดิมครั้งแรก คือ แก้ปัญหาเด็กไทยสายตาผิดปกติ
โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)
กรุงเทพมหานคร(กทม.) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(ไฮแทป)
ในการคัดกรองเด็กนักเรียนทั่วประเทศว่ามีสายตาผิดปกติมากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6
ซึ่งเป็นสาเหตุนำมาสู่ปัญหาตาบอดได้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่ามีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาถึง
260,000 คน
หรือคิดเป็นร้อยละ4.1แต่ที่ผ่านมาหลายคนไม่ได้รับการตรวจและรับแว่นสายตา
ส่งผลต่อการมองเห็น และกระทบต่อศักยภาพการเรียนรู้ได้
“ดังนั้น สธ. จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่โรงเรียนต่างๆ
เพื่อตรวจคัดกรองเด็กนักเรียนในการวัดค่าสายตา
โดยจะคิกออฟเริ่มตรวจสายตาพร้อมแจกแว่นสายตาในวันเด็กแห่งชาติ วันที่ 9
มกราคม 2559โดยเบื้องต้นจะแจกในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
1ทั่วประเทศ หลังจากนั้นในปี
2560จะขยายตรวจคัดกรองและแจกแว่นสายตาในเด็กชั้นอนุบาลต่อไป อย่างไรก็ตาม
สำหรับโครงการนี้ เริ่มจากจะมีการฝึกอบรมครูประจำชั้น
แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.)
และแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)
และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)
ซึ่งการดำเนินการนั้น
ขั้นแรกจะให้ครูประจำชั้นตรวจคัดกรองผ่านแผ่นทดสอบสายตา ระดับสายตาสั้น
ซึ่งจะแบ่งแผ่นทดสอบสายตาออกเป็น แผ่นทดสอบสายตาทั่วไปสำหรับเด็กโต
ซึ่งจะเป็นตัวเลข และแผ่นทดสอบสายตาสำหรับเด็กอนุบาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวอี
(E) และเมื่อคัดกรองว่าเด็กมีความผิดปกติทางสายตา
ก็จะส่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคัดกรองต่อว่ามีความผิดปกติทางสายตาอื่นๆอีก
หรือไม่ สุดท้ายจะส่งต่อทีมแพทย์เพื่อตัดแว่นสายตา
หรือในกรณีต้องรักษาความผิดปกติอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งในวันที่
9มกราคมจะเริ่มวันแรกในการออกตรวจแต่ละโรงเรียน
ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆจนครบทั่วประเทศ
ถือเป็นของขวัญวันเด็กให้เด็กไทยที่มีปัญหาสายตาได้รับโอกาสทุกคน”
นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า นอกจากการแจกแว่นสายตาแล้ว
สำหรับกิจกรรมอื่นๆของโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ด้านสุขภาพ
ทางสธ.ได้มีจัดรูปแบบกิจกรรมไว้ 46กิจกรรม
ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน กิจกรรมจะแตกต่างกันออกไป แต่หลักๆ
จะเน้นการเพิ่มทักษะการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างง่าย และต้องสนุก
เพื่อให้เด็กๆสนใจ เช่น การสำรวจลูกน้ำยุงลาย
อาจให้ออกสำรวจที่บ้านและมาส่งรายงานที่โรงเรียน
หรืองานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การล้างผักอย่างถูกวิธี นอกจากนี้
ยังมีกิจกรรมลงพื้นที่ยัง รพ.สต. หรือรพช.
เพื่อดูการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการบริการด้านต่างๆ
อย่างการศึกษาจากกลุ่มผู้ป่วยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มเพราะไม่สวมหมวก
นิรภัย ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้
เป็นการปลูกฝังและสร้างวินัยเรื่องความปลอดภัยทางถนนผ่านประสบการณ์จริง
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 21 ธันวาคม 2558