“พินิติ” เผยส่งโครงการคุรุทายาทรุ่นใหม่ให้ ศธ.
แล้ว แจกทุนเรียนครู 10 รุ่น เกือบ 60,000 ทุน ใช้งบฯ กว่า 8,000 ล้านบาท
ลั่นหลังจากนี้สถาบันผลิตครูทุกแห่งต้องผลิตบัณฑิตครูรวมไม่เกิน 25,000
คนต่อปี ชี้เน้นคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ
วันนี้ (21 ก.ย.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล
เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ส่งโครงการคุรุทายาท
ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2572 ให้ทุนนิสิต นักศึกษา
จำนวน 10 รุ่น ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กลับมาพิจารณาทบทวน
จำนวนทุน และหลักเกณฑ์ของโครงการอีกครั้งนั้น สกอ.ได้พิจารณาและเสนอให้
ศธ.แล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 58,000 คน
ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,106 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1.ให้ทุนการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมระหว่างเรียน
และประกันการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขา
และพื้นที่ขาดแคลนตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด โดยบรรจุเข้ารับราชการครู
ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับทุนรูปแบบนี้ต้องเป็นนักศึกษาที่มีภูมิลำเนา
และเรียนชั้น ม.ปลาย ในเขตพื้นที่นั้นๆ จริง และ
2.ประกันการมีงานทำเมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขา
และพื้นที่ขาดแคลนตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด โดยการบรรจุเข้ารับราชการครู
ในสถานศึกษาที่ขาดแคลนครูในสังกัด สพฐ.และ
สอศ.ตามที่หน่วยงานผู้ใช้งานกำหนด
“โครงการจะมีทั้งหมด 10 รุ่น ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 15 ปี
เนื่องจากเป็นการเรียนหลักสูตรครู 5 ปี โดย 3 ปีแรกปีละ 3,000 คน ปีที่ 4
จำนวน 4,000 คน ปีที่ 5 จำนวน5,000 คน และปีที่ 6-10 ปีละ 8,000 คน
ในจำนวนทั้งหมดนี้จะเป็นประเภทแรก คือ
ให้ทุนการศึกษาพร้อมบรรจุเข้าทำงานร้อยละ 10 คิดเป็น 5,800 คน”เลขาธิการ
กกอ. กล่าวและว่า
นอกจากนี้ยังมีการเสนอเรื่องการผลิตครูของสถาบันที่สอนคณะครุศาสตร์และศึกษา
ศาสตร์ทั่วประเทศว่า จะมีการกำหนดจำนวนการผลิตนิสิต นักศึกษาครู
โดยสถาบันผู้ผลิตทั้งหมดจะต้องผลิตครูรวมกันไม่เกิน 25,000 คนต่อปี
จากเดิมที่ผลิตกันเป็นจำนวนมากถึงปีละ 50,000-60,000 คน
เนื่องจากเราจะเน้นคุณภาพ ไม่ใช่มุ่งปริมาณ
ซึ่งทุกคนที่จบออกมาต้องเป็นบัณฑิตครูที่มีคุณภาพ
ไม่ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ก็ตาม.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 กันยายน 2558