ชู’ทวิภาษา’แก้ปมอ่าน-เขียนไม่ได้ สสค.ปรับใช้เด็กชายขอบป้องเลิกเรียนกลางคัน
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจข้อมูลของโรงเรียนพื้นที่แนวชายแดน 30 จังหวัด 45 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีร.ร. 90 แห่ง ใช้ภาษาชาติพันธุ์ ภาษาแม่ ภาษาบ้าน กว่า 30 ภาษา ในชีวิตประจำวัน บางแห่งแตกต่างกันถึง 3 ภาษา ทำให้ผลสัมฤทธิ์การศึกษาต่ำ และเด็กออกกลางคัน เพื่อแก้ปัญหานี้ สสค.จึงจัดเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สสค. เป็นผู้สนับสนุน โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ กพฐ. จะเป็นผู้นำเสนอนวัตกรรมทวิภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาอ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ในกลุ่มเด็กไทยชาติพันธุ์ ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ โดยใช้กรณีศึกษาจาก ร.ร.บ้านพุย ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่มีเด็กเป็น กะเหรี่ยงโปว์ และร.ร.วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ใช้ภาษามอญ ภาษาเป็นเครื่องมือที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ การศึกษาทำให้เราลืมไปว่า เรามีพี่น้องที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา แต่เป็นคนไทยด้วยกัน ฉะนั้นการเรียนรู้ด้วยทวิภาษา ทำให้รู้เรื่องพหุวัฒนธรรมจากเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งสสค.หวังว่า ตัวแบบเหล่านี้จะกระจายไปสู่ชนกลุ่มน้อย และร.ร.ชายขอบทั่วประเทศ เพราะการศึกษาไทย จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้ นายอมรวิชช์กล่าว ด้าน ผศ.วรรณา เทียนมี ประธานมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ กล่าวว่า ร.ร.ชายขอบจะมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาเรียนในระบบเด็กต้องใช้ภาษาไทย ทำให้เป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านภาษานั้น ต้องเริ่มจากการฟังจากคนใกล้ตัว หัดพูดเป็นคำ และเป็นประโยค หากเด็กเริ่มต้นเรียนภาษาจากการอ่าน และเขียน จะต้องเป็นการเรียนภาษาที่สอง จึงเป็นปัญหาของเด็กชายขอบ ซึ่งจะเลิกเรียนกลางคันในที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด |
โพสเมื่อ :
05 ส.ค. 56
อ่าน 875 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|