ค่ายเยาวชนอาเซียนค่ายของผู้นำเยาวชนในอนาคต
เมื่อพูดถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community หรือ AC) ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้มีความสามารถ ทั้งด้านภาษา ความคิด และมีจิตสาธารณะ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอย่างมีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงจัด โครงการฝึกอบรมปฏิบัติการนานาชาติประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 2 (The 2nd ASEAN Youth Camp Working Together a Sustainable Future) เพื่อให้เด็กจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการเป็นประชาคมอาเซียน รวมถึงการสร้างเครือข่ายการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เมื่อวันที่ 23–29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท จังหวัดนครนายก ภาพเด็กจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนจำนวน 85 คน ที่ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น สนุกสนานแม้จะมาจากชาติที่หลากหลาย ต่างภาษาต่างวัฒนธรรม แต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ น.ส.วงเดือน สุวรรณศิริ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ สำนักวิชาการและมาตรฐาน สพฐ. ในฐานะผู้อำนวยการค่าย ซึ่งเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมโครงการในครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมปฏิบัติการนานาชาติประชาคมอาเซียน เคยจัดขึ้นแล้ว เมื่อปลายปี 2554 ภายใต้โครงการ The Thai – ASEAN Camp and Students Exchange Programmer ซึ่งครั้งนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้และเข้าใจเรื่องของความเป็นอาเซียนเท่าใดนัก จึงเน้นเรื่องสามเสาหลักในการฝึกอบรมคือ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง เป็นประเด็นสำคัญ แต่สำหรับครั้งนี้ ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 2 ได้เน้นการให้ความสำคัญเรื่องของการทำงานเป็นทีมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้หลักการทำงานโดยผ่านประสบการณ์ในการทำกิจกรรม โดยนำหลักสูตรของการอบรมผู้นำเยาวชนของประเทศอังกฤษมาเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรม กิจกรรมที่จัดทั้งหมดจะเน้นเรื่องของบันไดแห่งการเรียนรู้ 5 ขั้น เริ่มจากขั้นแรก เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามที่ดีและมีประสิทธิภาพ ขั้นที่ 2เรียนรู้ที่จะค้นคว้าหาความรู้ ขั้นที่ 3 เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ ขั้นที่ 4 เรียนรู้ที่จะสื่อสาร แบ่งปันให้คนอื่นได้รู้ในสิ่งที่ตนเรียนรู้มา เพราะการช่วยให้คนอื่นได้รู้เป็นการยกระดับความสามารถหรือศักยภาพอีกระดับหนึ่งของตัวเด็กเอง และ ขั้นที่ 5 เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือสังคม โดยในทุกขั้นบันไดแห่งการเรียนรู้ได้มีการวางเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักเรียนได้ปฏิบัติได้ทำร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องการเมืองและความมั่นคง ซึ่งจะเน้นเรื่องของความเสมอภาค การอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและความสงบสุข รวมถึงการแสดงความคิดเห็นและการรับฟังซึ่งกันและกัน แต่เราจะไม่ไปวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์การเมืองว่าแบบไหน วิธีไหนดีที่สุด เพราะแต่ละประเทศในอาเซียน มีลักษณะการปกครองที่ค่อนข้างหลากหลาย อดีตเยาวชนอาเซียน ปี 2531 น.ส.อ้อยอัจฉรา สายืน อาจารย์จากโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร บอกว่า เห็นด้วยกับการจัดโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องของภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการเปิดโลกทัศน์ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เท่าที่สังเกตต้องยอมรับว่า ถึงแม้ปัจจุบันเด็กไทย มีความสามารถใกล้เคียงกับเด็กประเทศอื่น ๆ ทั้งเรื่องของการแสดงออก ความคิด ความสามารถ แต่เรื่องการใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเด็กไทยเรายังอ่อนกว่าเด็กจากประเทศอื่น ๆ เพราะหลายประเทศใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และที่ต้องยอมรับอีกเรื่องหนึ่งคือ เด็กไทยค่อนข้างขาดทักษะในการคิดชั้นสูง เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนของเรามักจะเน้นให้ฟังครูสอนอย่างเดียว แต่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่าที่ควร นายเพชร พูพาม อาจารย์จากโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ มิตรภาพลาว– เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ลาวยังมีจุดด้อยตรงที่ยังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นรัฐบาลลาวจึงต้องวางหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนเข้าสู่โรงเรียน รวมถึงฝึกอบรมครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวหน้า ทันสมัยและมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมตอนนี้ เพื่อให้เด็กมีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ร่ำเรียนการศึกษาต่าง ๆ ให้มากขึ้น ขณะที่ Noor Hasimah Bte Ahmadi อาจารย์จาก College West ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศสิงคโปร์ยังไม่มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน หลังจากเปิดประชาคมอาเซียนแล้วตนก็คาดหวังว่าเด็กจะมีโอกาสในการเรียนหนังสือ มีความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา มากขึ้นด้วย ถึงแม้โครงการจะจบลงแล้ว แต่ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมค่ายร่วมกิจกรรมจะยังคงอยู่ และเชื่อว่าจะมีการสานต่อในอนาคต เชื่อว่าการจัดกิจกรรมลักษณะนี้จะทำให้เด็กมีความกล้าคิด กล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามอยากฝากว่าถ้าเป็นไปได้กิจกรรมลักษณะนี้น่าจะเปิดกว้างสำหรับเด็กอีกหลายกลุ่มที่อาจจะไม่มีโอกาสบ้าง เพื่อเป็นการพัฒนาเด็กจากหลากหลายกลุ่ม ให้มีโอกาสได้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงบ้างก็น่าจะดี. สมจิตร์ พูลสุข
ที่มา: http://www.dailynews.co.th |
โพสเมื่อ :
03 ก.ค. 56
อ่าน 1081 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|