'เสริมศักดิ์'ลุยเองร้อง'ดีเอสไอ'ฟันโกงสอบครูทั่วปท.
เสริมศักดิ์ บุกร้องดีเอสไอ ตรวจสอบการทุจริตสอบบรรจุครูทั่วประเทศ 2 พันอัตรา แฉวิธีการทุจริตหลายรูปแบบทั้งเฉลยข้อสอบใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ช่วยในการสอบและสอบแทนกันเชื่อมีเจ้าหน้าที่รู้เห็น ธาริต รับลูกสั่ง จนท.ตรวจสอบขยายผลภายใน 15 วันก่อนมีการยกเลิกผลสอบบรรจุครู ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เมื่อเวลา13.00 น.วันที่ 27 ก.พ.56 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการเข้าพบ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อยื่นข้อมูลหลักฐานการทุจริตสอบบรรจุครูทั่วประเทศ ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยว่า ความไม่ชอบมาพากลนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.56 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ. เปิด สอบบรรจุครูจำนวน 2,000 อัตรา และพบว่ามีการทุจริตการสอบ 3 ลักษณะคือ ก่อนวันสอบมีการนำข้อสอบและคำเฉลย ออกมาจำหน่าย มีการใช้เครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในขณะสอบ และมีการให้บุคคลอื่นเข้าสอบแทนในสถานที่สอบ2-3 แห่ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า การทุจริตดังกล่าวมีลักษณะเป็นขบวนการคล้ายการทุจริตสอบบรรจุข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีความผิดในบางประเด็นที่อยู่นอกเหนือความสามารถของกระทรวงขณะเดียวกันเชื่อว่ามีข้าราชการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทุจริตครั้งนี้ จึงตัดสินใจยื่นร้องดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่ามีความชำนาญด้านการสอบสวน เพื่อให้เกิดการขยายผลและจับกุมผู้กระทำความผิดต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบมีการทุจริตจะยกเลิกเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาหรือยกเลิกทั้งหมด นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องยกเลิกการสอบทั้งประเทศ เพราะเมื่อไม่เป็นธรรมก็ต้องยกเลิกทั้งหมด นายธาริต กล่าวว่า การทุจริตสอบครูเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องนโยบายของภาครัฐ จึงรับเรื่องไว้และมอบหมายให้ นายธานิน เปรมปรีดิ์ ผอ.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดีเอสไอ ให้ดำเนินการขยายผลตรวจสอบในวันนี้เป็นต้นไป โดยจะทำการรายงานผลภายใน 15 วัน เพื่อประกอบการพิจารณายกเลิกผลการสอบบรรจุครู เมื่อวันที่ 13 ม.ค. และดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงกรณีการสอบบรรจุครูที่ความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว12 ซึ่งพบว่ามีรายชื่อผู้สอบซ้ำกันในสองจังหวัดคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และสพป.ศรีสะเกษ เขต 3 ว่า ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สพฐ. มีแนวปฏิบัติอยู่แล้ว โดยเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งจะต้องมีกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขณะเดียวกันส่วนกลางก็จะมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สพฐ. ส่วนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก็มีคณะกรรมการตรวจสอบเช่นเดียวกันดังนั้น ทุกหน่วยงานกำลังดำเนินการขยายผล แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปูพรมที่จะตรวจสอบทุกเขตพื้นที่การศึกษาเพราะสพฐ.มีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่ใดเป็นอย่างไร และคิดว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ |