3 สถาบันพระจอมเกล้าฯผนึกความรู้ สร้างบัณฑิตหัวกะทิสายวิทย์ป้อนตลาดอาเซียน
3 สถาบันพระจอมเกล้าฯผนึกความรู้ สร้างบัณฑิตหัวกะทิสายวิทย์ป้อนตลาดอาเซียน
ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากเล็งเห็นว่าการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนรากฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งหากประเทศมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแขนงต่างๆ อย่างดี ก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและพัฒนาประเทศชาติได้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 สถาบันได้สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์กรชั้นแนวหน้าในประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนกลไกการพัฒนานักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนบุคลากรของสถาบันสู่การเป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2554 ที่ผ่านมา ทั้ง 3 สถาบันได้ผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมกว่า 15,000 คน ซึ่งเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนของทั้ง 3 สถาบันเน้นการผลิตบุคลากรที่ทำงานเป็น ซึ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าได้ยึดถือความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในการผลิตบัณฑิตป้อนให้แก่สังคมเป็นสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้บัณฑิตทุกคนสามารถนำวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ในการทำงานและเลี้ยงชีพได้ ศ.ดร.ถวิลกล่าวว่า อีกทั้งการที่บัณฑิตมีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำให้บัณฑิตทุกคนที่สำเร็จการศึกษาจากรั้วพระจอมเกล้า เป็นมันสมองที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระบบการศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และน่าจะถึงเวลาของการผลักดันให้ผู้เรียนหันมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ที่เรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 20% ในขณะที่สายสังคมศาสตร์สูงกว่า 70% แต่ตลาดแรงงานทั้งในประเทศและอาเซียนยังต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และคอมพิวเตอร์อีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มมหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าจึงพยายามพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีเนื้อหาและวิธีการสอดคล้องกับยุคสมัย ตลอดจนการพัฒนานักศึกษา หรือบัณฑิตให้มีขีดความสามารถทางด้านวิชาการและวิชาชีพที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานอาเซียน อธิการบดี สจล. กล่าว
--ข่าวสด ฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
23 ม.ค. 56
อ่าน 1228 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|