สพฐ.แจงร.ร.นิติบุคคลยังอยู่ในกำกับทำตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่างอย่าห่วงเรื่องกีดกันเด็กด้อยโอกาส
สพฐ.แจงร.ร.นิติบุคคลยังอยู่ในกำกับทำตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่างอย่าห่วงเรื่องกีดกันเด็กด้อยโอกาส
ศึกษาธิการ * สพฐ.แจงสถานภาพ ร.ร.นิติบุคคลยังไม่มีอิสระเกินขอบเขต ทำตามอำเภอใจไม่ได้ทุกอย่าง เพราะยังมีฐานะเป็น ร.ร.ในกำกับของ สพฐ. ส่วนกลางมีอำนาจสั่งการให้คุณให้โทษได้ อย่าห่วงกีดกันทิ้งเด็กด้อยโอกาส เผยมี ร.ร.หลายแห่งสนใจขอนำร่องเป็นนิติบุคคลรอบ 2 เพราะรอบแรกกระแสดีเกินคาด สืบเนื่องจากวงประชุมการศึกษาหลายเวที รวมถึงนักวิชาการที่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โครงการนำร่องโรงเรียนนิติบุคคล 58 แห่ง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในทำนองเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะเป็นการให้อิสระการจัดการศึกษาของโรงเรียน แต่ก็ยังอดห่วงไม่ได้ว่าโรงเรียนนิติบุคคลจะมีกลไกการรับผิดรับชอบต่อการจัดการศึกษาเมื่อได้อิสระไปแล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันยังเกรงว่านักเรียนด้อยโอกาสและนักเรียนที่ดี แต่ยากจน จะไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนนิติบุคคลที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงได้จนเกิดการแบ่งแยกนั้น นายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนนำร่องเป็นนิติบุคคลยังไม่ถือว่าได้อิสระทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นโรงเรียนในกำกับของ สพฐ. มีส่วนกลางและเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้บังคับบัญชา ขณะที่บางเรื่องก็ยังต้องพึ่งส่วนกลาง อาทิ การแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียน การของบประมาณยังต้องผ่านเขตพื้นที่ฯ ต่อมาถึงส่วนกลาง เป็นต้น ต่างจากมหาวิทยาลัยที่มี พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีความอิสระสามารถเสนอของบฯ ได้ตรงกับ รมว.กระทรวงศึกษาธิการเลย ดังนั้นความอิสระของโรงเรียนกับกลไกความรับผิดรับชอบต่อการจัดการศึกษายังมีอยู่ เรายังตรวจสอบให้คุณให้โทษกับโรงเรียนได้อยู่ โรงเรียนนำร่องนิติบุคคลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน แต่ยังไม่เป็นนิติบุคคลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะฉะนั้นยังต้องมีต้นสังกัด ซึ่งบางเรื่องยังต้องพึ่งส่วนกลางอยู่ขณะเดียวกันความคล่องตัวที่จะได้เพิ่มขึ้น อย่างกรณีโรงเรียนนิติบุคคลจะจ้างครูบางสาขาที่ขาดอยู่ โรงเรียนก็สามารถประกาศรับสมัครและคัดเลือกได้เองเลย ไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไปที่ต้องแจ้งความประสงค์ไปยังเขตพื้นที่ฯ สุดท้ายกลับได้ครูในสาขาที่ไม่ต้อง การกลับมา นายรังสรรค์กล่าว สำหรับข้อห่วงใยเด็กด้อยโอกาสนั้น ที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า หากไปดูระเบียบการเรียกระดมทรัพยากรของโรงเรียนแล้วจะระบุว่า คณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจน ซึ่งการเรียกระดมทรัพยากรต้องผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่าย หากมีการขัดแย้งก็ไม่สามารถเรียกได้ หรือหากเรียกเก็บเงินก็ต้องไม่เก็บเงินในอัตราเดียวกับเด็กนักเรียนทั่วไป ขณะเดียวกันคณะกรรมการสถานศึกษาจะต้องให้โอกาสเด็กเหล่านี้ โดยอาจมีทุนการศึกษาให้หรือจัดให้มีรายได้ระหว่างเรียนด้วยการทำงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็มีเงินท็อปอัพให้เด็กเหล่านี้ให้ได้เงินอุดหนุนรายหัวมากกว่าเด็กทั่วไปทั้งระดับประถมและมัธยม ที่ปรึกษาฯ กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้โครงการโรงเรียนนำร่องนิติบุคคลได้รับความสนใจจากโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศที่อยากขอเข้าร่วมโครงการด้วย ดังนั้นเป็นไปได้ว่าอาจมีการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนมาเข้าร่วมโครงการอีกชุด โดยอาจมากกว่าจำนวน 58 แห่งที่ได้คัดเลือกไปแล้ว เพื่อดำเนินการผลักดันให้เป็นโรงเรียนนำร่องนิติบุคคลพร้อมกันในปีการศึกษา 2556 แต่เบื้องต้นต้องให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาอีกครั้ง.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ |
โพสเมื่อ :
28 ธ.ค. 55
อ่าน 1263 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|