สพฐ.เลือกโรงเรียนอนุบาลตราด ร่วมโครงการวิจัยนวัตกรรมศึกษาปฐมวัย
สพฐ.เลือกโรงเรียนอนุบาลตราด ร่วมโครงการวิจัยนวัตกรรมศึกษาปฐมวัย
ทีมข่าว จ.ตราด ด้วย สพฐ.ได้จัดทำโครงการวิจัยนวัตกรรมการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยคัดเลือกโรงเรียนเป็นตัวแทนการวิจัย และเป็นโรงเรียนต้นแบบแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมในบริบทของสังคมไทย 4 นวัตกรรมได้แก่ 1. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย 2. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบองค์รวม 3. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดไฮสโคป และ 4. นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดวอลดอร์ฟ แต่ละนวัตกรรม ตัวแทนภูมิภาคละ 1 โรงเรียน โดยภาคกลาง และตะวันออก โรงเรียนอนุบาลตราดได้รับคัดเลือก สำหรับความเป็นมาของนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย เกิดขึ้นในหมู่บ้านเรกจิโอ เอมีเลีย เป็นเมือง ๆ หนึ่งทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี บุคคลที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาคือ มาลากุซซี่ ครู และกลุ่มผู้ปกครอง ก่อให้เกิดวิวัฒนาการรูปแบบและแนวคิดการดำเนินการจัดการ การจัดบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการวิจัยนวัตกรรม เรกจิโอ เอมีเลีย ซึ่งมีอาจารย์ ดร.สุจินดา ขจรรุ่งศิลป์ ข้าราชการบำนาญ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ที่ปรึกษาของโครงการดังกล่าว ได้เดินทางมานิเทศเชิงลึก และเยี่ยมห้องเรียนทดลองด้วยตนเอง โดยมี นายสมนึก แพทย์พิทักษ์ ผอ.รร.อนุบาลตราด น.ส.อัญชลี กิจวิริยะ หัวหน้าฝ่ายวิชาการปฐมวัย และน.ส.นันทัชพร จิรขจรชัย ครูผู้สอนห้องเรียนทดลองแนวคิด เรกจิโอ เอมีเลีย ให้การต้อนรับ สำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย ของโรงเรียนอนุบาลตราด มีการคัดเลือกห้องเรียนอนุบาลปีที่ 2/1 เป็นห้องเรียนทดลอง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 ภาคเรียนที่ 2 โดยมีนักเรียนจำนวน 30 คน เด็กและคุณครูต้องปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ครูเตรียมการสอน โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากสื่อที่เตรียมไว้ให้อย่างหลากหลาย มีการสอนแบบโครงการสู่การคิดแก้ปัญหาด้วยคำถาม โดยผ่านกิจกรรมทางศิลปะ เป็นตัวถ่ายโอนองค์ความรู้ของเด็ก มีสื่อวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ กระดาษ ผ้า สีเทียน สีน้ำ ดินสอ พู่กัน พลาสติก เศษวัสดุเหลือใช้ ดินน้ำมัน กระดาน ขาหยั่งวาดภาพ ลวดสี เมื่อเด็ก ๆ ได้สัมผัสกับสื่อต่าง ๆ ได้เกิดการเรียนรู้ การคิด การแก้ปัญหากับการทำงานของเด็ก ๆ ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ เมื่อเด็ก ๆ ได้จัดทำโครงการที่เด็กได้เรียนรู้ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองตามความสนใจ จากคำถามที่เด็กอยากเรียนรู้ ฝึกเด็กทำงานอย่างมีระบบ คิดวางแผนกับการทำงานโดยสภาพห้องเรียนที่เอื้อให้เด็กใฝ่เรียนรู้กับสื่อและอุปกรณ์ในห้องเรียน มีการจัดนิทรรศการจากโครงการที่เด็กได้เรียน ได้คิดแก้ปัญหา แสดงถึงผลงานที่เป็นร่องรอยหลักฐานการถ่ายโอนองค์ความรู้ผ่านงานศิลปะ สร้างความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจให้กับเด็ก ด้านคุณครูมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดการเรียนการสอน การใช้คำถามกระตุ้นความคิด อำนวยความสะดวกให้เด็ก ๆ ได้เกิดการเรียนรู้ ด้วยการบันทึกคำพูด พฤติ กรรม ภาพถ่ายขณะทำกิจกรรม เพื่อสื่อสารให้เข้าใจในการเรียนรู้ตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย สิ่งที่สำคัญสำหรับครู คือ ต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ แสดงศักยภาพของตัวเด็กเองออกมาอย่างเต็มที่ นายสมนึก กล่าวว่า กิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิดเรกจิโอ เอมีเลีย ส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ หวังว่า นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดเรกจิโอ เอมิเลียนี้ คงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาเด็กไทยให้มีความพร้อม เพื่อรองรับการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ .
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 พ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
15 พ.ย. 55
อ่าน 1263 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|