’พงศ์เทพ’ไฟเขียวร.ร.เลื่อนเปิดเทอมรองรับน.ศ.ครุศาสตร์ฝึกสอน 2 ภาคเรียน สพฐ.คาดขยับไม่เกิ
'พงศ์เทพ'ไฟเขียวร.ร.เลื่อนเปิดเทอมรองรับน.ศ.ครุศาสตร์ฝึกสอน 2 ภาคเรียน สพฐ.คาดขยับไม่เกิน 20 วัน - เปิดต้นมิ.ย.
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องนโยบายการเปิด-ปิดภาคการศึกษา ตามปฏิทินประชาคมอาเซียนในปี 2557 ร่วมกับนายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ว่า การเปิดภาคเรียนของระดับอุดมศึกษาตามปฏิทินประชาคมอาเซียน ส่งผลกับนิสิตนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เรียนจบการศึกษาชั้นปี 4 ต้องไปฝึกสอนเป็นเวลา 1 ปีในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยต้องฝึกสอนให้เต็ม 2 ภาคการศึกษา แต่การเปิดภาคเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังเปิดแบบเดิมอยู่ คือช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้มหาวิทยาลัยที่เลื่อนเปิดภาคเรียนใหม่ และนิสิตนักศึกษาที่ต้องฝึกสอนในโรงเรียน อาจฝึกสอนได้ไม่ครบ 1 ปี ทั้งนี้ จากการหารืออาจปรับหรือขยับการเปิดภาคเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้บ้าง แต่ไม่มาก เพื่อให้นิสิตนักศึกษาสามารถฝึกสอนได้โดยไม่ต้องเสียเวลา อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดขอให้ทั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และ สพฐ.หารือกันต่อไป นายชินภัทรกล่าวว่า สพฐ.ได้หารือเรื่องดังกล่าวแล้วหลายครั้ง และได้รวบรวมข้อมูลการเปิด-ปิดภาคเรียนของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ พบว่าแม้ในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็ยังเปิด-ปิดภาคเรียนหลากหลายอยู่ การที่มหาวิทยาลัยไทยเลื่อนเปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับปฏิทินอาเซียน จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกเรียนมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ในอาเซียน แต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 10 ล้านคน ดังนั้น การที่ สพฐ.จะพิจารณาเลื่อน หรือไม่เลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อน หากเลื่อนให้ตรงกับมหาวิทยาลัยอาจเกิดผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปถึง 4 เดือน โดยเปิดเรียนช่วงเดือนสิงหาคม ดังนั้น หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.มีความเห็นให้ปรับการเปิดภาคเรียนได้เล็กน้อย ก็อาจปรับได้ 2 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 วัน โดยจะไปเปิดเรียนประมาณต้นเดือนมิถุนายนในปี 2557 การปรับดังกล่าวจะอยู่ในวิสัยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่างๆ ของผู้ปกครองและนักเรียนมากนัก โดย สพฐ.จะไปประชุมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ปกครอง นักเรียน ครู เป็นต้น เพราะการเลื่อนเปิดภาคเรียนต้องดูว่ามีผลกระทบต่อส่วนไหนบ้าง อย่างตารางการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ และการรับนักเรียนซึ่งทุกอย่างจะต้องลงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจะได้ข้อสรุปเบื้องต้น นายชินภัทรกล่าว นายศิริชัยกล่าวว่า การให้ระบบการเปิด-ปิดภาคเรียนในระดับอุดมศึกษาสอดคล้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะทำให้ความขัดแย้งหายไป ซึ่งดีต่อเอกภาพของการจัดการศึกษาและสอดคล้องกับนานาชาติในการร่วมจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนคณาจารย์หรือนักศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั่วประเทศ ในระดับปริญญาตรีเป็นหลักสูตร 5 ปี และคุรุสภากำหนดให้ต้องฝึกสอน 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา หากขยับปฏิทินการศึกษาในปี 2557 ตามมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะทำให้ภาคเรียนที่ 2 ต้องเปิดเรียนกลางเดือนมกราคมไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นนิสิตนักศึกษาจะต้องไปฝึกสอน แต่หากโรงเรียนสังกัด สพฐ.ยังเปิดเรียนตามปกติในเดือนพฤษภาคม จะทำให้นิสิตกลุ่มนี้สูญเสียโอกาสสอนนักเรียน หากขยับเพื่อให้สอดรับในการ ส่งนิสิตไปฝึกสอน จะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า หาก สพฐ.เลื่อนเปิดภาคเรียน 2 สัปดาห์ หรือ 20 วัน เพื่อให้ครูฝึกงานได้ 2 สัปดาห์คงไม่พอ และหากจะเลื่อนก็อยากให้คิดถึงทุกวิชาชีพอย่างรอบด้าน ไม่ใช่คิดเพียงวิชาชีพครูอย่างเดียว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน |
โพสเมื่อ :
08 พ.ย. 55
อ่าน 1023 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|