สถานการณ์เด็กบกพร่อง เรียนรู้เพิ่มน่ากลัวชี้ดูแลดีช่วยลดปัญหาสังคมได้
สถานการณ์เด็กบกพร่อง เรียนรู้เพิ่มน่ากลัวชี้ดูแลดีช่วยลดปัญหาสังคมได้
จากการเสวนา สถานการณ์เด็ก LD ในสังคมไทย : รู้ทัน กันได้ ให้ทางเด็กทุกคน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ร.ร.พิบูลประชาสรรค์ ดินแดง พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กบกพร่องการเรียนรู้จากภาวะทางสมอง ได้แก่ สมาธิสั้น แอลดี เรียนรู้ช้า และออทิสติก มีจำนวนถึง 12-13% ของประชากรเด็กทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ ประชากรที่เพิ่มขึ้น การค้นพบเด็กได้มากขึ้น รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษและอาหารล้วนมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลหรือไม่ถูกยอมรับก็จะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แปลกแยกจากกลุ่มเพื่อนหรือเสียโอกาสทางการศึกษา ดร.ผดุง อารยะวิญญู นายกสมาคมแอลดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเด็กพิการทางสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในทุก 500 คนจะเป็นออทิสติก 1 คน ส่วนแอลดีแท้มี 5% ขณะที่แอลดีแฝงหรือกลุ่มที่มีปัญหาด้านการอ่านมีถึง 10% ของเด็กทั้งหมด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการเรียนรู้ แต่จะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเด็กทั่วไป จึงต้องอาศัยคนใกล้ตัวคือผู้ปกครองและครูช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของเด็กเหล่านั้น เช่น เด็กไม่สามารถอ่านก็สามารถเรียนรู้จากการฟังหรือดูวิดีโอได้ หรือเด็กอาจจะเก่งทางด้านกีฬา เป็นต้น หากเราสามารถตรวจเจอได้เร็วและพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ยังเล็กจะสามารถช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นได้ แม้จะไม่หายขาด ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ขณะนี้เรามีเด็กบกพร่องการเรียนรู้จากภาวะทางสมองประมาณ 3-4 ล้านคน ซึ่งเด็กเหล่านี้เสี่ยงต่อความล้มเหลวในชีวิต ซึ่งตนเคยคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่าหากเรามีระบบช่วยเหลือดูแลเด็กเหล่านี้ให้สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติได้จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นถึง 2% และที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย สังเกตได้จากเด็กที่อยู่ในสถานพินิจจะพบว่ากว่า 30% เป็นเด็กสมาธิสั้น เพราะเด็กเหล่านี้ชอบใช้ความรุนแรง ดังนั้นถ้าได้รับการกระตุ้น ที่ดี เด็กก็จะพัฒนาการไปในทางที่ดี ซึ่งเป็นอานิสงส์ช่วยทำให้ประเทศชาติเข้มแข็ง บุคลิกของเด็กจะถูกกำหนดในช่วง 5 ขวบแรก หน้าต่างจะเปิดช่วงนั้น หากเรารู้ปัญหาเร็ว และเข้าประกบเร็วก็จะช่วยได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีดีอยู่ในตัว เพียงแต่เรายังค้นหาไม่เจอเท่านั้น อย่างไรก็ตามผมไม่ชอบคำว่าเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่อยากให้เรียกว่า เด็กที่มีการเรียนรู้พิเศษมากกว่า ดร.อมรวิชช์ กล่าว.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ |
โพสเมื่อ :
19 ต.ค. 55
อ่าน 734 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|