แจงเหตุร.ร.เล็กตกประเมินอื้อ
แจงเหตุร.ร.เล็กตกประเมินอื้อ
นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 พ.ศ.2554-2558 โดยจำแนกสถานศึกษาตามขนาด เพื่อหาระดับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่พิเศษ พบว่า สถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ มีผลประเมินอยู่ในระดับคุณภาพดีมากสูงที่สุด ร้อยละ 16.29 รองลงมาคือสถานศึกษาขนาดเล็ก ร้อยละ 4.01 และสถานศึกษาขนาดกลาง ร้อยละ 3.39 แต่ถึงแม้สถานศึกษาขนาดเล็กจะได้รับการประเมินคุณภาพดีมากร้อยละ 4.01 หรือ 193 โรง จาก 4,816 โรง ที่ได้รับการประเมิน แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการรับรองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.12 หรือ 1,547 โรง ปัญหานี้เกิดจากภูมิหลังของนักเรียน บางกลุ่มไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะทำงานอยู่อีกพื้นที่ ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย บางกลุ่มฐานะยากจน บางกลุ่มย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ และบางกลุ่มไม่ได้พูดภาษาไทย เมื่อสอบวัดผลจึงกระทบต่อคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการประเมินของ สมศ.จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจโรงเรียนขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ ยังพบว่ามีครูไม่ครบชั้น โดยเฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดอยู่กว่า 10,000 คน และส่วนใหญ่สอนไม่ตรงสาขาที่เรียน รวมถึงทำเรื่องขอย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นตลอดเวลา นายชาญณรงค์กล่าว นายชาญณรงค์กล่าวอีกว่า สมศ.จึงเสนอให้โรงเรียนขนาดเล็กก้าวข้ามขีดจำกัด โดยประสานสถาบันอุดมศึกษา ขอนิสิตนักศึกษามาเป็นครูอาสา หรือสร้างเครือข่ายโดยเน้นจัดค่ายพัฒนาครู นักเรียน และให้คนในชุมชนที่มีองค์ความรู้มาสอนในวิชาที่ตนเองมีความรู้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดครูได้ ส่วนเรื่องงบประมาณที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียง 20,000-40,000 บาทต่อปีตามรายหัวนักเรียน คงไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ จึงควรนำ บวร บ้าน วัด โรงเรียน กลับมาใช้ เพื่อสร้างศรัทธาให้ครู เมื่อชาวบ้านศรัทธาก็จะนำลูกหลานมาเรียน และช่วยระดมทุนพัฒนาโรงเรียนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน |
โพสเมื่อ :
16 ก.ค. 55
อ่าน 1004 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|