ทบ.อบรม’สุภาพบุรุษอาชีวะ’ เริ่ม 10 ก.ค. - ปลูกฝังให้รักชาติ
ทบ.อบรม'สุภาพบุรุษอาชีวะ' เริ่ม 10 ก.ค. - ปลูกฝังให้รักชาติ
ปัดฝุ่นโครงการ'สุภาพบุรุษอาชีวะ' ดีเดย์ 10 ก.ค.นี้ เปิดอบรม'นักเรียน-นักเลง' 220 คน จาก 33 สถาบัน 10 สัปดาห์ ส่งลง 2 หน่วยทหาร หวังปลูกฝังให้เปลี่ยนจากรักสถาบันศึกษามาเป็นรักชาติ ทำความดีต่อสังคม พบรุ่นพี่จัดตั้งเป็นขบวนการ มีเงินทุนสนับสนุนเป้าหมายเป็นเด็กปี 2 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.ท.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสุภาพบุรุษอาชีวะ ซึ่งนำนักเรียนอาชีวะมาฝึกในค่ายทหารว่า กองทัพบกและคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาอาชีวะภาคเอกชน และคณะกรรมการอาชีวศึกษา (ภาครัฐบาล) ได้ข้อสรุปว่า กองทัพบกจะเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการ สร้างกิจกรรม ซึ่งมีผู้เข้าฝึกอบรม 220 คน จาก 33 สถาบัน โดยเป็นของเอกชน 16 สถาบัน และเป็นของรัฐบาล 17 สถาบัน โดยใช้เวลาในการอบรม 10 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนครึ่ง หรือเท่ากับเวลาฝึกทหารใหม่ของกองทัพบก ส่วนพื้นที่ที่ใช้ในการฝึกมี 2 พื้นที่ คือ ค่ายฝึกรบพิเศษแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งเพื่อดูเงื่อนไขบุคลากรด้านการสอนว่ามีเพียงพอหรือไม่ โดยอาจยุบเหลือ 1 พื้นที่แล้วแบ่งเป็น 2 รุ่น โดยจะเริ่มในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะดูแลสนับสนุนเรื่องงบประมาณทั้งหมด ส่วนหลังการอบรมแล้วอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะเด็กอาจกลับไปมีพฤติกรรมเดิมนั้น ตนมองว่าเพียงได้แค่ 1% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วเพราะสามารถปลูกฝังเด็กได้ส่วนหนึ่ง พ.ท.วันชนะกล่าวว่า รูปแบบการฝึกแบ่งออกเป็น 1.กรมนักเรียน คล้ายๆ การฝึกของนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ซึ่งดูแลเรื่องระเบียบวินัยการออกกำลังกายกินอยู่หลับนอน และ 2.ด้านการศึกษาจะเน้นด้านวิชาการ ทาง ศธ.จะดูแลซึ่งการสอนเทียบเท่ากับชั้นเรียนปกติ โดยจะมีนักจิตวิทยาเข้ามาช่วยอบรมด้วย กองทัพบกและ ศธ.ตระหนักดีว่าเด็กเหล่านี้ไม่ใช่เด็กมีปัญหา เพราะฉะนั้นอย่ามองว่าเป็นเด็กสร้างปัญหา เราเพียงเข้าไปเสริมหลักสูตรและศักยภาพ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เรารู้ดีว่าช่วงวัยรุ่นที่คึกคะนอง เขามีสัญลักษณ์อุดมการณ์ คือ รักสถาบัน ต่อไปเราจะเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์สถาบันเป็นรักชาติ ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญมากกว่า นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ศธ.พบว่ารุ่นพี่ที่ออกจากสถาบันไปแล้วเข้ามาในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังความคิด ความรุนแรง โดยมีเป้าหมายเป็นเด็กชั้นปีที่ 2 ที่มองว่ากระดูกกำลังเจริญเติบโต และรุ่นพี่ที่เข้ามามีการตั้งเป็น กระบวนการ มีเงินทุนสนับสนุน และการช่วยเหลือเรื่องคดีความ พ.ท.วันชนะกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างกองทัพบกและ ศธ. โดยเบื้องต้นจะมีการนำเด็กหัวโจกจากวิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงทั้ง 36 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 19 แห่ง และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 17 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนหัวโจกอยู่ประมาณ 130 คน แบ่งเด็กหัวโจกที่อยู่วิทยาลัยสังกัด สอศ.จำนวน 50 คน และสังกัด สช.จำนวน 80 คน มาเข้าโครงการและส่งไปฝึกอบรมในค่ายทหาร
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน |
โพสเมื่อ :
29 มิ.ย. 55
อ่าน 1922 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|