กยศ.ตั้ง 4.6 หมื่นล. ให้กู้ปีการศึกษา 55
กยศ.ตั้ง 4.6 หมื่นล. ให้กู้ปีการศึกษา 55
ยอดผิดนัดชำระหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 5 แสนราย กยศ. เตรียมวงเงินกู้ปีการศึกษา 2555 จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น กยศ. 4 หมื่นล้านบาท และ กรอ. 6 พันล้านบาท มั่นใจเพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ยอดผิดนัดชำระหนี้ปัจจุบันอยู่ที่ 5 แสนราย ในจำนวนนี้เตรียมตัดเป็นหนี้เสีย 1 แสนราย เหตุค้างจ่ายมาแล้ว 4 ปี นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการให้กู้ยืมของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปีการศึกษา 2555 ว่ากองทุน กรอ. จะดำเนินการให้กู้ยืมควบคู่ไปกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่นักเรียน นักศึกษาและนำไปสู่การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่มีเอกภาพเพียงระบบเดียวโดยกองทุนกรอ. จะเน้นสนับสนุนเยาวชนที่เลือกเรียนต่อในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานและมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ส่วนกองทุนกยศ. เน้นการช่วยเหลือนักเรียก นักศึกษาที่ยากจนครอบครัวขาดแคลนทุนทรัพย์ ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2555 กยศ. มีงบประมาณที่จะใช้ในการให้กู้ยืมทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ จำนวน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่า จะรองรับนักเรียน นักศึกษาที่จะเข้ากองทุนได้ 9.7 แสนราย ส่วนกรอ. จะมีวงเงินให้กู้ จำนวน 6 พันล้านบาท จะรองรับผู้กู้ได้ประมาณ 7 หมื่นราย และ ยืนยันว่า วงเงินจำนวนดังกล่าวของทั้ง 2 กองทุน จะมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้กู้ในปีนี้แน่นอน สำหรับการชำระหนี้คืนกองทุนกยศ.ของผู้กู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว 2 ปีนั้น ปัจจุบันเห็นได้ว่า ขณะนี้ ผู้กู้เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า เมื่อจบการศึกษาไปแล้วก็จะต้องมีการชำระหนี้คืน เพราะถือเป็นหน้าที่ ดังนั้น ยอดการชำระคืน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ดี ทางกองทุนก็มีการติดตามทวงหนี้ในส่วนของผู้กู้ที่ผิดนัดชำระอยู่ตลอด ทั้งนี้ ในปีก่อนหน้ากองทุนได้รับชำระหนี้คืนจาก กยศ.ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนของผู้ที่ชำระหนี้คืนจะอยู่ที่ 78% และอีก 22% หรือประมาณ 5 แสนราย อยู่ระหว่างการติดตามทวงถามหนี้ และในจำนวนของผู้ที่อยู่ระหว่างการทวงถามหนี้นั้น จะมีอยู่ประมาณ 1 แสนราย ที่คาดว่าจะต้องตัดเป็นหนี้สงสัยจะสูญ เนื่องจาก ไม่มีการชำระหนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 ปี สำหรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมกองทุนกรอ.นั้น จะให้กู้ยืมค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษานักศึกษาระดับอาชีวศึกษาขั้นสูงหรืออุดมศึกษาที่เข้าเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 เฉพาะหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนเท่านั้น เช่น สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ครุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทย์ และพยาบาล เป็นต้น โดยไม่จำกัดรายได้ของครอบครัว นายอารีพงศ์มั่นใจว่า การกู้ยืมผ่าน กรอ. จะไม่เกิดปัญหาการเบี้ยวชำระคืนเงินกู้ภายหลังจากจบการศึกษาเหมือนที่ กยศ. ประสบอยู่ เนื่องจาก กรอ. เป็นกองทุนที่ให้กู้สำหรับนักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อนักศึกษาเรียนจบจะมีงานรองรับแน่นอน และเมื่อมีการชำระหนี้คืนโดยผูกติดกับรายได้ในอนาคต คือ เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ 1.6 หมื่นบาทต่อเดือนค่อยชำระ ทางกองทุนฯ ก็กำหนดให้ผู้กู้เมื่อเรียนจบแล้วมีหน้าที่แจ้งรายได้กลับมาให้กองทุนทราบอย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้ง ยังมีมาตรการติดตามทวงหนี้อย่างเข้มงวดสำหรับผู้ที่ไม่ติดต่อกลับและไม่มีการชำระหนี้คืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ |
โพสเมื่อ :
22 พ.ค. 55
อ่าน 923 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|