’การรู้สารสนเทศ’เพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างภาคภูมิ...
'การรู้สารสนเทศ'เพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างภาคภูมิ...
สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต อีกไม่กี่ปีข้างหน้าในปี 2558 ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) คือ การให้อาเซียน รวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันจะเกิดขึ้น โดยมีเสาหลัก 3 เสา ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน(ASEAN Security Community - ASC) มีวัตถุประสงค์มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community - ASCC) เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดีและมีความมั่นคงทางสังคม การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนั้น คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยตรงกับประเทศไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการศึกษา ถือเป็นมิติที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านภาษาอังกฤษ ที่จะเป็นภาษากลางของ ASEAN ดังนั้น บุคลากรทางการศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ จำเป็นต้องเพิ่มทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้ การปรับปรุงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อลดความขัดแย้งในภูมิภาคอาเซียน จึงต้องคำนึงการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง ASEAN มากขึ้น การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถแข่งขันได้ใน ASEAN เพิ่มโอกาสในการทำงาน และลดโอกาสในการสูญเสียงาน เนื่องจากเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี หรือแม้แต่การเน้นการเสริมสร้างคุณภาพการศึกษา เพื่ออาศัยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ของไทย เพื่อสร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาในภูมิภาค (Education Hub) ผลกระทบที่เกิดขึ้นในมิติทางด้านการศึกษาทำให้ระบบการศึกษาไทย จำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้สารสนเทศ (Information Literacy) ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับสากลในสังคมความรู้และสังคมการเรียนรู้และในประเทศต่างๆ ที่พัฒนาแล้ว ได้มีการประกาศให้มาตรฐานการรู้สารสนเทศสำหรับกลุ่มบุคคลต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยยังไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวในระดับชาติอย่างเป็น รูปธรรม และยังไม่มีการประกาศใช้มาตรฐานการเรียนรู้ในระดับชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นยิ่ง การประกาศใช้มาตรฐานการรู้สารสนเทศสำหรับนักเรียนไทยในระดับชาติจึงมีความสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาทั้งในระดับชาติและระดับสากล จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานนท์ ได้ทำวิจัยเรื่อง การพัฒนามาตรฐานการรู้สารสนเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนานักเรียนไทยให้เป็นผู้รู้สารสนเทศ และทำให้ได้แนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางนโยบาย แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนร่างมาตรฐานการรู้สารสนเทศสำหรับนักเรียนไทย พ.ศ.2555 ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐาน 6 ด้าน ดังนี้ มาตรฐานที่ 1 นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของสารสนเทศ นักเรียนผู้สารสนเทศ คือ พื้นฐานของการศึกษา การเรียนตลอดชีวิต และการดำรงชีวิตในระบอบประชาธิปไตย ตระหนักถึงความจำเป็นของการให้สารสนเทศ สามารถกำหนดประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ และขอบเขตความต้องการสารสนเทศได้ มาตรฐานที่ 2 นักเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งสารสนเทศและใช้เครื่องมือค้นสารสนเทศ นักเรียนผู้รู้สารสนเทศรู้และเข้าถึงแหล่งสารสนเทศที่สอดคล้องและเหมาะสมกับประเด็นที่ต้องการเรียนรู้ มีความรู้ ความเข้าใจ วัตถุประสงค์ ขอบเขต ข้อดีและข้อจำกัดของแหล่งสารสนเทศที่มีความหลากหลาย รู้วิธีและใช้เครื่องมือค้นสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อค้นสารสนเทศที่ต้องการได้ มาตรฐานที่ 3 นักเรียนคิด วิเคราะห์ ประเมิน และเลือกสารสนเทศที่ต้องการ นักเรียนผู้รับสารสนเทศมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถคิดวิเคราะห์และประเมินสารสนเทศในด้านความถูกต้อง เที่ยงตรง ความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการ ความครบถ้วนสมบูรณ์ ความทันสมัย และสามารถประยุกต์เกณฑ์เหล่านี้ในการเลือกสารสนเทศที่ต้องการได้ มาตรฐานที่ 4 นักเรียนสามารถรวบรวม จัดระบบสังเคราะห์สารสนเทศ นักเรียนผู้รู้สารสนเทศสามารถรวบรวม จำแนก แยกแยะ จัดกลุ่มสารสนเทศตามประเด็นที่ต้องการ และบูรณาการความรู้เพื่อสร้างสารสนเทศใหม่ได้ มาตรฐานที่ 5 นักเรียนสามารถนำสารสนเทศที่สร้างไปใช้ นักเรียนผู้รู้สารสนเทศที่สร้างไปใช้ด้ามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในการเรียนรู้และการดำรงชีวิต มาตรฐานที่ 6 นักเรียนมีจริยธรรม เคารพกฎหมายและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ นักเรียนผู้รู้สารสนเทศตระหนักถึงการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการแสวงหา การเข้าถึงการสร้าง และการใช้สารสนเทศ มีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศ เคารพลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา เสรีภาพทางปัญญาและสิทธิส่วนบุคคล 6 มาตรฐานที่สกัดจากงานวิจัยนี้ ถือเป็นมาตรฐานที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้มีสมรรถนะด้านสารสนเทศและใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาการอ่าน การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เต็มศักยภาพ และยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่ผลักดันให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิตในสังคมไทย บทสรุปสุดท้ายย่อมส่งผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ย่อมทำให้การก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเป็นไปอย่างภาคภูมิ และนำมาซึ่งประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ มากกว่าความวิตกกังวลต่อการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ปรากฏอยู่...แค่พัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพียงเท่านี้ก็คงไม่ต้องกลัวว่าจะสู้ชาติอื่นไม่ได้...จริงไหม?
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน |
โพสเมื่อ :
02 เม.ย. 55
อ่าน 7985 ครั้ง คำค้นหา :
|
|
ข่าวอื่นน่าสนใจ
|