วิกฤตสู่วิชา เพื่อศิษย์ครู
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
ในโอกาสวันครู 16 มกราคม มีเรื่องเล่าของคุณครูพอเพียงถึงห้องเรียนหลังวิกฤตน้ำท่วมมาฝากกัน
น้ำท่วม หลายคนมองว่าเป็นวิกฤต แต่ไหนเลยจะเอาชนะกำลังใจที่ปรารถนาดีของครูเพื่อศิษย์ไปได้
หลังน้ำลด คุณครูพอเพียงในเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจลหลายคนจึงแปลง วิกฤต เป็น วิชา อาศัยเหตุการณ์น้ำท่วมมาเป็นสื่อการเรียนรู้ ปลูกฝังคุณค่า หลักคิด และมุมมองดีๆ ให้แก่ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
ครูอุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ คุณครูวิชาภาษาไทย และคุณครูประจำชั้น ป.6 โรงเรียนวัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ เล่าว่า ปีนี้ที่โรงเรียนไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเหมือนพื้นที่อื่นๆ ในเขตภาคกลาง เพราะได้ร่มพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ถือเป็นพระมหา กรุณาธิคุณที่ทำให้ชาวสมุทรปราการรอดพ้นจากภัยน้ำท่วมใหญ่มาได้
แต่ครูอุทัยวรรณยังอาศัยเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นโอกาสดีที่จะสอดแทรกบทเรียน จิตอาสา และ ความเป็นพลเมือง ให้ลูกศิษย์ตัวน้อยได้สืบค้น และเรียนรู้ถึงต้นสายปลายเหตุของน้ำท่วมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
รวมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนติดตามข่าวสารเพื่อเรียนรู้สถานการณ์ และชวนคิดถึงการ เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เราจะเห็นได้ว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจะไม่สนใจติดตามข่าวสารใดๆ เลย ทั้งๆ ที่ข้างนอกมีคนเดือดร้อนมากมาย พอดีมีน้องคนหนึ่ง บ้านที่อยู่ย่านบางแคได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม คุณแม่จึงได้มาขอทางโรงเรียนให้น้องได้เรียนด้วยชั่วคราว ครูจึงอาศัยจังหวะนี้ขอให้น้องที่ได้รับผลกระทบมาช่วยเล่าให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบฟังว่าเขาเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เสร็จแล้วก็มาวิเคราะห์และอภิปรายร่วมกันว่าถ้าเราเป็นผู้ประสบภัย เราจะเตรียมตัวป้องกัน และช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างไรบ้าง
ครูอุทัยวรรณ เล่าต่อว่า จากบทเรียนครั้งนั้นทำให้นักเรียนในห้องมีความรู้ความเข้าใจถึงเหตุการณ์น้ำท่วมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจ บางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองให้ใช้ข้าวของแต่พอดี เพื่อไม่ทำลายธรรมชาติซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของน้ำท่วม
เมื่อโรงเรียนเปิดรับสิ่งของบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย นักเรียนในห้องยังกุลีกุจอนำสิ่งของช่วยเหลือมาบริจาคด้วยความเต็มใจ
เช่นกันกับ อาจารย์วาริน รอดบำเรอ คุณครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม มีเรื่องเล่าดีๆ มาแบ่งปัน ครูวาริน เล่าว่าที่โรงเรียนเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปเต็มๆ เมื่อเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ของชั้นม.5 ครูวารินต้องสอนเรื่องความน่าจะเป็นแก่ลูกศิษย์ จึงเป็นโอกาสเหมาะให้ลูกศิษย์เชื่อมโยงการเรียนวิชาคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง
ห้องเรียนคณิตศาสตร์ของครูวารินในวันนั้น ครูวารินได้นำถุงยังชีพมาเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ โดยสมมติให้ห้องเรียนคณิตศาสตร์เป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งได้รับสิ่งของบริจาคจากชาวบ้านผู้มีจิตอาสามากมาย ครูจึงต้องการให้นักเรียนมาช่วยกันคิดว่า ถ้าเราได้ของบริจาคมา X อย่าง จะมีความน่าจะเป็นในการแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัยอย่างไร
ไม่เพียงแต่วิชาการที่สอดแทรกสอนให้แก่ลูกศิษย์ ครูวารินยังสอดแทรกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงในใจของลูกศิษย์ในห้องเรียนหลังน้ำท่วมด้วย
เช่น เรื่องการมีเหตุผล ครูวารินสอนนักเรียนว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราจะต้องมีเหตุผลเสมอ การแจกของบริจาคในถุงยังชีพก็เช่นกัน เด็กๆ ต้องอธิบายให้ได้ว่าใส่สิ่งของนั้นๆ ลงไปเพื่ออะไร และโดยเฉพาะกับเงื่อนไขของคุณธรรมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในสังคม ครูวารินจึงให้เงื่อนไขนักเรียนได้สนุกคิดเพิ่มเติม อาทิ ถ้าเราไม่แจกลูกอมซึ่งจะทำให้เด็กๆ ฟันผุลงในถุงยังชีพ เราจะมีความน่าจะเป็นในการแจกขนมแก่เด็กๆ แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร
วิธีนี้นอกจากจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาและสนุกสนานแล้ว ครูวารินยังทิ้งท้ายด้วยว่า วิธีการจัดการ เรียนการสอนดังที่กล่าวมายังจะทำให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ได้สัมผัสของจริง จนเกิดเป็นฉันทะความอยากเรียนรู้ เมื่อลูกศิษย์ของเรามีสิ่งนี้เกิดขึ้นในจิตใจแล้ว เขาก็จะพลอยมีระดับการเรียนรู้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เรื่องเล่าเร้าพลังข้างต้นเกิดขึ้นในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา ในความร่วมมือของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่มีจิตวิญญาณเพื่อลูกศิษย์จากทั่วประเทศได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานเครือข่าย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ ซึ่งมุ่งหวังให้นักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปเติบโตเป็นกำลังที่ดีของสังคม มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ มีจิตอาสา ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในศตวรรษที่ 21
ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod |